ช่วงอายุประชากรจังหวัดเชียงใหม่

เชียงใหม่ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ รองจากขอนแก่น ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2560 เชียงใหม่มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,746,840 คน แบ่งเป็นชาย 847,521 คน หญิง 899,319 คน โดยผู้ที่มีสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มีจำนวนทั้งสิ้น 1,601,801 คน คิดเป็นร้อยละ 91.69 ของประชากรทั้งหมด ที่เหลือเป็นผู้ที่ไม่ได้สัญชาติไทย บุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือ ผู้ที่อยู่ระหว่างการย้าย

จำนวนประชากรในจังหวัดเชียงใหม่เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มีจำนวน 1,601,801 คน แบ่งเป็นชายจำนวน 772,741 คน หญิงจำนวน 829,060 คน มีอายุตั้งแต่น้อยกว่า 1 ปี จนถึง มากกว่า 100 ปี โดยประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 59 อยู่ในช่วงอายุ 26 – 65 ปี และในช่วงอายุนี้ ผู้ที่มีอายุ 51 – 60 ปี มีจำนวนมากถึงร้อยละ 16.33 กลุ่มช่วงอายุ 26 – 65 ปี จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอีก 5 ปี หากอัตราการเกิดของประชากรยังมีจำนวนไม่มากพอ

จำนวนประชากรเชียงใหม่

ข้อมูลจากระบบสถิติการลงทะเบียน กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 พบว่าเชียงใหม่มีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นอันดับ 3 รองจากนครราชสีมาและกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนผู้สูงวัยคิดเป็นร้อยละ 16.39 ของประชากรในจังหวัด อาจเป็นเพราะเชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่ มีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศดี ส่งผลให้มีประชากรจำนวนมากเลือกที่จะมาใช้ชีวิตบั้นปลาย ทำให้จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งผู้สูงอายุที่เป็นชาวเชียงใหม่และผู้สูงอายุจากต่างถิ่น รวมถึงผู้สูงอายุชาวต่างชาติจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สหรัฐอเมริกา และชาวยุโรปจากหลายประเทศ กว่า 5,200 คน โดยส่วนใหญ่เข้ามาพักแบบระยะยาว

ปัจจุบันประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่หันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้คนส่วนใหญ่สนใจในกิจกรรมการออกกำลังกายต่างๆ อาทิ การปั่นจักรยาน วิ่งมินิมาราธอน วิ่งตามสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ การเล่นโยคะ หรือการเข้าฟิตเน็ต สถานให้บริการด้านการออกกำลังกายก็มีให้บริการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ประกอบกับระบบสาธารณสุขที่พัฒนาก้าวหน้า ส่งผลให้ผู้คนมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นอีก 8.8 ปี โดยผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ย 71.8 ปี และผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.6 ปี ภายใน 17 ปี นับจากปี พ.ศ.2561

ธุรกิจประเภทต่างๆต่างเตรียมรับมือสังคมผู้สูงวัยของเชียงใหม่ อาทิ การให้บริการอาหารและเครื่องดื่มที่เน้นให้บริการแก่ผู้สูงวัยมากขึ้น การให้บริการของสถานบริการสุขภาพ เงื่อนไขและประเภทของหลักประกันสุขภาพ การให้บริการขนส่งสาธารณะ อาหารเพื่อสุขภาพ คอร์สออกกำลังกาย หรือการให้บริการดูแลผู้สูงวัย ฯลฯ

อ้างอิงข้อมูลจากระบบสถิติการลงทะเบียน กรมการปกครอง

Scroll to Top