เทศกาลและงานประเพณีของเชียงใหม่

นับจากอดีต ชีวิตของชาวล้านนาผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้จากการดำเนินชีวิต และสถาบันทางศาสนาในชุมชน รวมทั้งระบบหัววัด ซึ่งมีการรวมกลุ่มของวัดต่าง ๆ ไม่ว่าใกล้หรือไกลกัน และคนในชุมชนหนึ่งชักชวนคนอีกชุมชนหนึ่งมาทำบุญที่วัดของตน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กัน

ขณะที่พุทธศาสนามีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตของคนเมืองอย่างลึกซึ้ง แต่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีปู่ย่าและผีเสื้อเมือง ผีเจ้าเมืองก็มีปะปนอยู่ จนแยกกันไม่ออก ชาวล้านนาสามารถนำทั้งสองอย่างมาผสมผสานกันได้ อย่างกลมกลืน ในงานพิธีและประเพณีต่าง ๆ ซึ่งจะพบได้ในปัจจุบัน

ประเพณีและงานพิธีที่สำคัญในรอบปีของชาวเชียงใหม่มีอยู่มากมาย อาทิ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีเข้าอินทขีล ประเพณีลอยโคมลอยโขมด ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมทอง และพิธีเลี้ยงผีปู่และย่า เป็นต้น

งานร่มบ่อสร้าง จัดขึ้นประมาณเดือนมกราคมของทุกปี ที่บริเวณศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง มีการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากกระดาษสา โดยเฉพาะร่มบ่อสร้าง มีการแสดงทางวัฒนธรรม ขบวนแห่ ประเพณีพื้นบ้าน และการประกวดต่างๆ

งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ จัดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ ในงานจัดให้มีการประกวดสวนหย่อมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ภาคเช้าของงานจะจัดให้มีขบวนรถบุปผชาติ และนางงามบุปผชาติ แห่จากบริเวณหน้าสถานีรถไฟ ผ่านสะพานนวรัฐไปสู่สวนสาธารณะหนองบวกหาด

งานประเพณีสงกรานต์ จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน โดยในวันที่ 13 จะเป็นวันมหาสงกรานต์ มีขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ และขบวนแห่นางสงกรานต์ โดยเริ่มจากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร แห่ไปรอบเมืองเชียงใหม่ แล้วมีพิธีสรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำกัน

งานประเพณียี่เป็ง จัดขึ้นในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี เป็นงานประเพณีที่น่าสนใจยิ่งของจังหวัดเชียงใหม่ จะมีการปล่อยโคมลอยเพื่อเป็นการบูชาพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ มีการจุดดอกไม้ไฟ ประกวดกระทง ขบวนแห่นางนพมาศ ฯลฯ

ประเพณีเข้าอินทขีล ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ชาวเชียงใหม่จะร่วมกันประกอบพิธีบูชาอินทขีล ซึ่งเป็นเสาหลักเมือง โดยจำนำดอกไม้ธูปเทียนมาใส่ขันหรือถาดกราบไหว้บูชาอินทขีล

ประเพณีการเลี้ยงขันโตก ขันโตก เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารของชาวเหนือ ทำด้วยไม้สัก ทาด้วยหางสีแดง สูง 8-10 นิ้ว มีขาไม้สักกลึงเป็นรูปกลมตั้งบนวงล้อรับอีกอันหนึ่ง ขันโตกจะกว้างประมาณ 10-30 นิ้ว สมัยโบราณคนพื้นเมืองนิยมใช้ขันโตกสำหรับใส่อาหาร รับประทานในครัวเรือน แต่ความนิยมใช้ค่อยเสื่อมลงเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น และคนหันไปนิยมของใช้จากต่างประเทศแทน ขันโตกจึงใช้เฉพาะเป็นธรรมเนียมในการต้อนรับแขกเมือง และบุคคลสำคัญเท่านั้น

Scroll to Top